วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555


สาระความรู้เกี่ยวกับสัญญาต่างๆ
กฎหมายนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อผู้คนในสังคมของเรา และตลอดเวลาของกาดำรงชีวิตของเราทุก
คนในทุกๆ วันนี้ ก็มักวนเวียนเกี่ยวข้องอยู่แต่ในเรื่องของกฎหมายอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าจะมีใครซักกี่คนที่รู้ตระหนักถึง
ความสำคัญและความมีอยู่ของมัน และในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักและทำความเข้าใจกฎหมาย ในส่วนที่เรามักจะ
ใช้อยู่เป็นประจำวัน นั้นก็คือ กฎหมายในเรื่องของ "สัญญา"

         สัญญา คือ การทำข้อตกลงระหว่างบุคคลคนสองคนขึ้นไป ว่าจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา โดยผู้ที่ทำสัญญา
ต้องการให้ตัวเองเข้าไปผูกพันในเรื่องที่ได้มีการตกลงกันเอาไว้นั้น ตัวอย่างเช่น การทำสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งมีคนหรือ
บุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้ขอกู้เงินฝ่ายหนึ่ง กับผู้ให้กู้เงิน อีกฝ่ายหนึ่ง  โดยทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงในเรื่องสำคัญที่ว่า
ผู้ขอกู้เงินขอเอาเงินของผู้ให้กู้เงินมาใช้ก่อน แล้วหลังจากนั้นผู้กู้เงินจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนให้กับผู้ให้กู้เงินใน
ภายหลัง พร้อมกับค่าตอบแทนเป็นเงินดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เงิน ซึ่งผู้ให้กู้เงินก็ตกลงยินยอมที่จะให้เงินจำนวนดังกล่าว
แก่ผู้กู้เงิน และเมื่อมีการตกลงกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว  สัญญาจึงเกิดขึ้นมา

         การทำสัญญานั้นมีหลักเกณฑ์อยู่ว่า ต้องมีฝ่ายหนึ่ง "เสนอ" สิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา แล้วมีอีกฝ่ายหนึ่ง "รับ" ข้อ
เสนอที่เสนอมานั้น  เมื่อมีการเสนอและสนองรับข้อตกลงต่างๆ แล้ว สัญญาก็เกิดขึ้น มีผลให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตาม
ข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้นั้น และข้อตกลงของสัญญาต้องเป็นเรื่องที่ไม่ผิดต่อกฎหมาย ซึ่งในที่นี้จะขอยกตัว
อย่างง่ายๆ ในเรื่องของการซื้อขาย เช่น
        ขณะที่ นาย ก. กำลังเดินผ่านไปแถวๆ ตลาดบางกะปิ เพื่อจะไปทำงานนั้น  พลัน นาย ก. ก็ได้ยินแม่ค้าสาวคน
หนึ่งกำลังร้องเสียงหวานเชิญชวนให้ นาย ก. ซื้อมะม่วง  เมื่อ นาย ก.ได้ยินก็เกิดความสนใจจึงแวะเข้าไปดู  เมื่อ
เข้าไปดูแล้ว นาย ก. ก็เกิดอยากกิน จึงได้ตกลงซื้อมะม่วงจากแม่ค้าสาวมา 1 โล  
         ตามตัวอย่างข้างต้น แม่ค้ามะม่วงได้ เสนอ ขายมะม่วงให้กับ นาย ก. ต่อมา นาย ก. ก็สนใจอยากกินมะม่วง
ขึ้นมา จึงตกลง รับ ที่จะซื้อมะม่วงจากแม่ค้าสาว เมื่อมีการเสนอที่จะขายและมีการรับที่จะซื้อ สัญญาซื้อขายจึงเกิด
ขึ้น เป็นต้น
ในการทำสัญญา ผู้ทำสัญญาสามารถทำสัญญาได้ด้วยการพูดจาตกลงกันด้วยวาจา หรือจะทำเป็นหนังสือ
สัญญา เพื่อความชัดเจนขึ้นมาก็ได้  แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางกรณี ที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้เป็นการเฉพาะเอาไว้ว่า
การทำสัญญาจะต้องทำเป็นเป็นหนังสือ หรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หากจะทำสัญญานั้น ก็จะต้องทำตามแบบที่
กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ด้วย คือต้องทำเป็นหนังสือด้วยนะคะ

สัญญากู้ยืมเงิน



ปีนี้เป็นปีที่ใครๆ ต่างก็บ่นกันอุบ เพราะว่าเศรษฐกิจบ้านเรามันไม่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็เนื่องมาจากเศรษฐกิจของ
โลกในระบบของการค้าตลาดเสรี ที่ต่างก็ล้มกันระเนระนาดกันเป็นทิวแถว และยังไม่เท่านั้น มันยังส่งผลกระทบเป็น
ระลอกคลื่น มายังเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย และคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นไม่พ้นชนชาวรากหญ้าตาดำๆ
ทั้งหลาย เพราะว่าข้าวปลาอาหารต่างๆ ก็แพงขึ้นๆ ทำให้เราต้องควักกระเป๋าจ่ายมากขึ้น ในขณะที่รายรับนั้นเท่าเดิม
หรือแทบจะไม่มีเลย เมื่อเป็นแบบนี้ต่อไปใครๆ ก็คงจะพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า แย่   เมื่อสถานะการณ์เป็นอย่าง
นี้ไม่ว่าใครๆ ต่างก็ต้องแลซ้ายแลขวาเพื่อหาทางเอาตัวรอดกันทั้งนั้น หากท่านมีโอกาสและจังหวะที่ดีพอ ท่านก็อาจ
จะเป็นอีกคนหนึ่งที่เลียบๆ เคียงๆ ไปยังคนที่อยู่ข้างๆ แล้วก็พูดออกมาเลยว่า "ขอยืมเงินหน่อยคร๊าบ"

        "การกู้ยืมเงิน" นั้น เป็นเรื่องธรรมดาในยุคนี้สมัยนี้ และสำหรับชาวบ้านชาวช่องทั่วๆ ไปต่างก็คุ้นเคยกันเป็น
อย่างดี เพราะว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องที่ใครๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้นในช่วงเวลาที่ลำบากยากเข็ญ  ซึ่งในเรื่องของการ
กู้ยืมเงินตามแบบฉบับของชาวบ้านนั้น ส่วนมากก็จะเป็นการขอยืมกันด้วยปากเปล่า ไม่ได้มีการทำสัญยงสัญญาอะไร
ไว้ต่อกัน ทั้งนี้เพราะถือหลักความคุ้นเคยและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และเมื่อได้มีการหยิบยืมเงินกันแล้ว
เมื่อถึงเวลา ก็จะเอามาคืนให้กัน โดยที่ไม่ได้มีการคิดดอกบงดอกเบี้ยให้มันปวดสมองเล่น และการยืมแต่ละครั้งก็เป็น
จำนวนเงินที่ไม่มากนัก  
         สิ่งที่ได้กล่าวและเกิดขึ้นมานี้ ถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ในยามที่ลำบาก  แต่ก็อย่างว่าละครับ คนเราเกิดมาย่อมจะมีความแตกต่าง ทั้งจริต นิสัย ถ้าเจอคนที่ดีก็ถือว่าเป็นบุญ
ไป แต่หากไปเจอคนที่เลว ชอบเอารัดเอาเปรียบ หรือคอยจ้องแต่จะคดโกงคนอื่นอย่างนี้แล้ว อย่างนี้ก็คงไม่ไหว
และหากคนแบบนี้มาขอหยิบยืมเงินเราไป ปัญหาที่ตามมาก็อาจจะหนีไม่พ้นต้องกุมขมับ เพราะว่าหายเข้าไปในกลีบ
เมฆ หรือทวงถามเมื่อไหร่ก็บอกไม่มี แล้วก็ผลัดผ่อนไปวันหลังอยู่เรื่อยๆ แบบนี้ผู้ให้ยืมก็คงหน้าดำหน้าเขียวไม่รู้จะทำ
อย่างไรดีซะงั้น

        ตามหลักของกฎหมายในเรื่องของการกู้ยืมเงิน การจะทำสัญญากู้ยืมเงินในแต่ละครั้งนั้นจะทำสัญญากันด้วย
ปากเปล่าก็ได้ หรือเพื่อความมั่นใจว่า จะไม่เกิดปัญหาขึ้นตามมาภายหลัง จะทำเป็นหนังสือสัญญาโดยเฉพาะก็ได้
เช่นกัน เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดเอาไว้  (แต่ถ้าจะให้ดีเพื่อความสบายใจ เราก็ควรที่จะทำเป็นหนังสือสัญญาดี
กว่า) แต่ว่า หากมีการกู้ยืมเงินกันเป็นเงินมากกว่าสองพันบาทขึ้นไป (ก็ 2,001 บาทขึ้นไป) ก็จะต้องมีหลักฐานการ
กู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสำคัญ (หลักฐานการกู้ยืมนั้นจะเป็นหนังสือ
อะไรก็ได้ โดยต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมอยู่ด้วย เช่น จดหมายโต้ตอบว่าได้มีการยืมเงินกันไป อย่างนี้ก็ใช้ได้) และ
หากว่ามีการกู้ยืมเงินกันเกินกว่าสองพันบาท แล้วไม่ได้ทำสัญญากันไว้ หรือว่าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่ง
อย่างใดเลย อย่างนี้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็จะไปฟ้องร้องต่อศาล เพื่อจะเรียกร้องเอาเงินจากผู้กู้ยืมคืนมาไม่ได้  เมื่อ
เป็นอย่างนี้ ผู้ให้กู้ก็ต้องรับเคราะห์ไป ส่วนผู้กู้ก็เดินยิ้มแฉ่งได้อย่างสบายอกสบายใจ เพราะได้ตังค์ใช้ฟรี
        ดังนั้นในการกู้ยืมเงินกัน แม้ว่าเราจะรู้จักมักคุ้นกับผู้กู้เงิน และไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขนาดไหน เราก็ควรจะทำ
สัญญา หรือทำหลักฐานการกู้ยืมกันไว้จะเป็นการดีที่สุด เพราะตามข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ คดีเกี่ยวกับการ
กู้ยืมเงินโดยส่วนมาก คู่พิพาทมักจะเป็นคนที่รู้จักกัน

        ที่นี้เรามาว่ากันในส่วนของฝ่ายของผู้กู้ยืมเงิน  กฎหมายก็ได้วางหลักเกณฑ์ในส่วนของผู้กู้ยืมเงินเอาไว้เช่นกัน
กล่าวคือ เมื่อการกู้ยืมเงินได้ทำเป็นหนังสือสัญญาไว้ต่อกัน หรือไม่ได้ทำหนังสือสัญญา แต่ว่าได้ทำหนังสืออย่างใด
อย่างหนึ่ง ที่แสดงได้ว่าได้มีการกู้ยืมเงินกัน โดยฝ่ายผู้กู้เงินได้เซ็นต์ชื่อลงในหนังสือนั้นด้วย เช่น
         นาย ก. เขียนจดหมายไปหา นาย ข. บอกว่า "เงินที่ยืมไป 50,000 บาท ชาติหน้าถึงจะคืนให้" เสร็จแล้วนาย
ก. ก็ได้ลงชื่อเอาไว้
         ข้อความที่กล่าวไว้ข้างต้น เพียงเท่านี้ ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานของการกู้ยืมเงินได้  และต่อมาเมื่อผู้กู้เงินได้
ชำระเงินตามวันเวลาที่ได้ตกลงกันไว้กับผู้ให้กู้เงินแล้ว แต่ปรากฏว่า ผู้กู้เงินกลับละเลยไม่ขอใบเสร็จ หรือหลักฐาน
การชำระเงิน หรือเมื่อชำระเงินให้กับผู้ให้กู้เงินครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ได้ขอสัญญากู้ หรือหลักฐานการกู้คืนจากผู้ให้กู้ หรือ
ขอให้ผู้ให้กู้เงินทำลายสัญญา หรือหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นเสีย ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่อใจกันแล้ว   หากปรากฏว่าวันดี
คืนดีผู้กู้เงินก็ได้รับหมายเรียกจากศาล โดยมีข้อหาว่า ผู้กู้เงินผิดสัญญาไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ให้กู้เงินตามสัญญา  เมื่อ
เกิดเหตุอย่างนี้แล้ว ผู้กู้เงินจะต่อสู้กับผู้ให้กู้ โดยนำพยานหลักฐานไปแสดงต่อศาล เพื่อแสดงว่าได้นำเงินไปชำระ
คืนให้กับผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้วไม่ได้  ทั้งนี้เพระว่าผู้กู้เงินไม่มีหลักฐานแสดงได้ว่า ได้นำเงินไปชำระแล้วนั่นเอง ที่นี้ผู้กู้
เงินก็ต้องก้มหน้ารับเคราะห์ หาเงินไปชำระให้กับผู้ให้กู้อีกรอบ ส่วนผู้ให้กู้เงินก็ยิ้มบ้าง เพราะได้กำไรเป็นเท่าตัว

สรุป ในส่วนของผู้กู้เงิน เมื่อได้นำเงินมาชำระคืนแก่ผู้ให้กู้ ก็ควรที่จะขอใบเสร็จ หรือหนังสืออย่างอื่นที่แสดง
ว่าได้มีการชำระเงินคืนแล้ว เป็นเงินเท่าใด  และหากชำระครบถ้วนแล้ว ก็ขอสัญญาคืน หรือขีดฆ่า หรือฉีกทำลายเสียซึ่งดีกว่าใช้ความเชื่อใจ แล้วเกิดปัญหาขึ้นมาภายหลังนะคะ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น